อินซูลิน ฮอร์โมนความอ้วน
หลายคนคงเคยได้ยินชื่อฮอร์โมนนี้กันมาบ้างโดยเฉพาะผู้ที่ทำการลดน้ำหนักหรือผู้ป่วย เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน
เพราะอะไรเจ้าฮอร์โมนตัวนี้จึงดูเหมือนจะเกี่ยวข้องทางตรงกับการรับประทานและหุ่นของเราอย่างมาก ครั้งนี้พี่ปินิกซ์จะมาเพื่อน ๆ มาไขข้อสงสัยไปพร้อมกันค่ะ
เลือกหัวข้อที่น่าสนใจ
อินซูลิน คืออะไร
ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) คือ ฮอร์โมนที่มีหน้าที่ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
มีบางคนถามพี่ปินิกซ์ว่า “แล้วน้ำตาลไปอยู่ในเลือดได้อย่างไร”
พี่ปินิกซ์ขออธิบายแบบนี้นะคะ อาหารทุกอย่างที่เรารับประทานเข้าไปในร่างกาย เช่น ตำไทยไข่เค็ม ข้าวขาหมู เค้ก ชาเขียว โยเกิร์ต ในอาหารเหล่านั้นจะมีสารอาหารที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ สารอาหาร 5 หมู่
อันประกอบไปด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามินและเกลือแร่ทั้งสิ้น
แล้วเมื่อเพื่อน ๆ รับประทานอาหารเหล่านี้เข้าไป ในร่างกายจะเกิดกระบวนการย่อย ย่อยจนเล็กมาก มากขนาดที่สามารถเข้าไปในเส้นเลือดของเราได้เลยค่ะ
สาเหตุที่สารอาหารต้องถูกย่อยจนเล็กขนาดเข้าสู่เส้นเลือดได้ก็เพราะว่า สารอาหารเหล่านี้แหล่ะค่ะที่จะถูกส่งไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทั่วทุกส่วน
เพราะทุกอิริยาบถของเราล้วนต้องการพลังงาน พลังงานก็ได้มาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป
พี่ปินิกซ์ขอยกตัวอย่างเมนูที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว นั่นคือ ตำไทยไข่เค็ม ในเมนูนี้ก็ประกอบไปด้วยทั้ง มะละกอ มะเขือเทศ พริก กระเทียม น้ำปลา น้ำตาล และไข่เค็ม
เริ่มจากพริก กระเทียม มะเขือเทศ เราจะได้รับวิตามิน เกลือแร่แน่นอนอยู่แล้ว น้ำปลา ก็อาจจะมีโปรตีนจากปลาและแร่ธาตุโซเดียม แต่เพื่อน ๆ ไม่ต้องใส่เยอะ เพราะโซเดียมเราได้จากหลายแห่ง ใส่น้ำปลาเยอะเกินไป เราอาจจะได้รับโซเดียมมากเกินร่างกายต้องการ
ถัดมาโปรตีนถ้าไข่ขาวเราก็จะได้สารอาหารประเภทโปรตีน ส่วนไข่แดงก็ไขมัน
และพระเอกที่จะพูดถึงของเมนูนี้ นั่นคือมะละกอสับ ซึ่งแน่นอนว่าเราจะได้วิตามินมากมายอยู่แล้ว แต่มะละกอก็คือ สารอาหารประะเภทแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต พอทานเข้าไปเกิดการย่อยก็จะได้เป็น น้ำตาลอยู่ดี
แล้วอย่างที่พี่ปินิกซ์บอกไป น้ำตาลที่ได้ไปไหน ?
ก็เข้าสู่เส้นเลือดเพื่อเตรียมขนส่งไปทั่วร่างกาย
การทำงานของอินซูลิน
เมื่อพูดถึงน้ำตาลกับร่างกาย จริง ๆ เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนหลายตัวนะคะ เช่น กลูคากอน คอร์ติซอล
เกร็ดความรู้
กลูคากอลและอินซูลินจะทำงานร่วมกันในการเพิ่มและลดระดับน้ำตาลในเลือด ที่สำคัญเหตุผลที่เราต้องรู้จักและเข้าใจการทำงานของฮอร์โมนตัวนี้ก็เพราะอินซูลินเป็นเพียงตัวเดียวที่สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ในบรรดาฮอร์โมนทั้งหมด
อินซูลินของเราจะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดผ่านการบัญชาการของเซลล์หลัก 3 ชนิด คือ เซลล์ตับเซลล์กล้ามเนื้อลายและเซลล์ไขมัน ฟังดูยิ่งใหญ่มาก แต่ก็ยิ่งใหญ่จริง ๆ
พี่ปินิกซ์จะพามาดูการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนชนิดนี้กันนะคะ
อินซูลินจะทำงานโดยมีระดับความสูง – ต่ำของน้ำตาลในเลือด ณ ขณะนั้น เช่น หลังเราดื่มชาเขียวหวาน ๆ สักแก้ว น้ำตาลที่ได้จากชาเขียวโดยมากก็จะเป็นน้ำตาลทรายซึ่งยังมีขนาดใหญ่อยู่ เข้าเส้นเลือดเราไม่ได้ ร่างกายก็จะย่อยจนได้ กลูโคสแล้วเตรียมพร้อมขนส่ง
ทีนี้ระดับน้ำตาลในเลือดของเราก็จะเพิ่มสูงขึ้น ยิ่งน้ำตาลทรายเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว
ทำให้กระบวนการย่อยไว สุด ๆ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลพุ่งสูงในเวลารวดเร็ว
ถัดมาเจ้าอินซูลินพอน้ำตาลหรือกลูโคสมาเยอะ ๆ ก็รีบมาจัดการต่อทันที
โดยเมื่อระดับกลูโคสในเลือดสูงกว่า 80 – 90 mg/dL (่ระดับน้ำตาลในเลือด 80 – 90 mg/dL คือระดับที่อยู่ในช่วงที่เราอดอาหาร)
พอเรารับประทานเข้าไปจนระดับน้ำตาลของเราสูงขึ้น ก็จะกระตุ้นให้เกิดการสังเคราะห์อินซูลินจาก บีต้าเซลล์ (beta cell) ในตับอ่อนเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดลง
ทีนี้เรามาดูกันว่าทำไม ฮอร์โมนตัวนี้จึงได้ชื่อว่า ฮอร์โมนความอ้วน
ฮอร์โมนความอ้วน
ด้วยหน้าที่ของอินซูลินที่ไม่ได้แค่ลดระดับน้ำตาลในเลือดแต่ยังเปลี่ยนกลูโคสให้อยู่ในรูปของไกลโคลเจนเพื่อไปเก็บหอมรอมริบไว้ที่ตับและกล้ามเนื้อ เช่น ตามแขน ตามขาเป็นต้น
ถ้าเพื่อน ๆ ทานคาร์โบไฮเดรตเยอะ ๆ เพื่อน ๆ ไม่ต้องกลัวนะคะ อินซูลินไม่ปล่อยให้หายไปไหนแน่นอน
นอกจากนี้ถ้าในเวลานั้นมีอินซูลินสูง ๆ ก็จะส่งผลต่อการสลายกรดไขมันอิสระจากไขมันที่สะสมอยู่ในเซลล์ไขมันของเรา แถมยังทำให้เก็บพลังงานที่เรากินเข้าไปเยอะ ๆ ไว้ในรูปของกรดไขมันอิสระอีกด้วย
ทำให้หากเกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนตัวนี้แล้วล่ะก็จึงสามารถส่งผลต่อน้ำหนักตัวของเรานั่นเอง ฟังแบบนี้เราไม่ควรปล่อยให้ร่างกายมีระดับอินซูลินสูง ๆ เลยนะคะเนี่ย
อินซูลินกับโรคเบาหวาน
เพื่อน ๆ บางคนอาจสงสัยว่าพี่ปินิกซ์ก็บอกเองว่าอินซูลินร่างกายสร้างเองได้ แต่ทำไมบางคนถึงต้องฉีดอินซูลินเข้าไปด้วยล่ะ
เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก แต่อย่างที่พี่ปินิกซ์บอกไปร่างกายคนเรามีการทำงานที่เหมือนกัน แต่ที่ไม่เหมือนกันเพราะบางคนก็ได้รับกรรมพันธุ์ที่ทำให้การทำงานของร่างกายไม่ปกติ
หรือรับประทานอาหารที่มีผลในแง่ลบต่อการทำงานในร่างกายส่งผลให้ระบบการทำงานของร่างกายผิดปกติ
กรณีเบาหวานก็เช่นกันค่ะ โดยเบาหวานแบ่งแบบคร่าว ๆ ได้ 4 ชนิด
- เบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากเซล์ตับอ่อนถูกทำลายส่งผลให้สร้างอินซูลินไม่ได้ มักพบในเด็ก
- เบาหวานชนิดที่ 2 ชนิดนี้จะมาเป็นกันตอนโตซึ่งพบเยอะที่สุด ประมาณ 95% ของผู้ที่เป็นโรคเบาหวานทั้งหมดในบ้านเรา สาเหตุเกิดจากการดื้ออินซูลิน มักพบในผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
- เบาหวานที่เกิดขณะตั้งครรภ์
- โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ เช่น โรคทางพันธุกรรม โรคที่เกี่ยวข้องกับตับอ่อนหรือต่อมไร้ท่อ
พอดูจากชนิดของเบาหวานเพื่อน ๆ ก็จะเห็นว่าบางคนตับอ่อนผิดปกติ ส่งผลให้สร้างอินซูลินไม่ได้หรือสร้างได้น้อย จึงจำเป็นที่จะฉีดเข้าไป เพราะอินซูลินเป็นตัวเดียวที่สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
ใครบ้างที่ต้องฉีดอินซูลิน
ผู้ที่ตับอ่อนสร้างอินซูลินได้น้อยมากไม่พอกับที่ร่างกายต้องใช้
ผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคแทรกซ้อนทางตับ ไต ชนิดที่แค่ทานยาไม่ได้ผล
ถัดมาเพื่อน ๆ สงสัยไหมคะว่า อินซูลินที่จะมาฉีดให้กับผู้ป่วยได้มาจากไหน พี่ปินิกซ์จะอธิบายโดยการแบ่งชนิดอินซูลินให้ฟังนะคะ
ชนิดของอินซูลิน
- อินซูลินวัว มาจากตับอ่อนของวัว
- อินซูลินหมู มาจากตับอ่อนของหมู
- อินซูลินหมูและวัว
- อินซูลินที่ได้จากกระบวนการชีวเคมีสังเคราะห์หรือพันธุวิศวกรรม ชนิดนี้จะทำให้เราสร้างได้ในปริมาณมาก ๆ มีลักษณะเหมือนที่ร่างกายสร้างนั่นเอง
แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการสังเคราะห์อินซูลินขึ้นมาใช้แทนอินซูลินจากร่างกายได้ แต่สำหรับผู้ที่อินซูลินยังสร้างได้ปกติก็อย่าชะล่าใจ โดยการนึกจะรับประทานอะไรเข้าไปโดยไม่คำนึงถึงการทำงานของร่างกายนะคะ
เพราะการต้องมาฉีดอินซูลินตลอดถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องมีวินัยอย่างมากเลยทีเดียว
หลังจากที่่เพื่อน ๆ อ่านมาถึงตรงนี้เราก็จะทราบกันแล้วใช่ไหมคะว่า ทำไมอาหารจึงมีความสำคัญมากกับร่างกายของเรา เพราะร่างกายเราล้วนต้องใช้พลังงาน พลังงานที่เหลือก็ไม่หายไปไหน เก็บสะสมไว้
หากทานบางอย่างมากไปก็ส่งผลทำลายร่างกายของเราเอง การใส่ใจรับประทานอาหารจึงมีความสำคัญอย่างมาก
สรุป
อินซูลิน คือ ฮอร์โมนเพียงชนิดเดียวที่สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ถ้าร่างกายเราไม่มีฮอร์โมนชนิดนี้ จำเป็นที่จะต้องได้รับชนิดสังเคราะห์เข้ามา
สำหรับผู้ที่ยังไม่มีภาวะผิดปกติ อินซูลินยังทำงานได้ ถ้าทานอาหารที่เป็นโทษหรือไม่ถูกหลักก็มีผลต่อภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งก็สามารถทำให้เกิดโรคเบาหวานในอนาคตได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก สาระควรรู้เกี่ยวกับอินซูลิน (tu.ac.th) โรคเบาหวาน คืออะไร (dmthai.org) Endocrine pancreas (slideshare.net) Insulin | ยาน่ารู้ (wordpress.com) HighlightInsulin.pdf (wongkarnpat.com)